หลังค่อม

หลังค่อม ที่เรามักนึกภาพเห็นเป็นคนแก่ที่อายุเยอะๆ เดินหลังค่อม แต่ในปัจจุบันอาการหลังค่อมสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย ในบทความนี้จะมาพูดถึงอาการหลังค่อม สาเหตุ และการวินิจฉัยรักษาอาการหลังค่อม

หลังค่อม

อาการหลังค่อม

หลังค่อม (Kyphosis) คือ อาการที่กระดูกสันหลังโค้งนูนมากผิดปกติ ในบางรายอาจสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า โดยอาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น รู้สึกปวดหรือตึงบริเวณหลัง เจ็บที่กระดูกสันหลัง ในผู้ที่มีอาการหลังค่อมมากอาจลำบากเวลารับประทานอาหารหรือหายใจ สาเหตุเกิดจากการพัฒนาที่ผิดปกติของกระดูกสันหลังของทารกในครรภ์มารดา หรือการทำร้ายสุขภาพของกระดูกสันหลังด้วยการทำท่าทางหรืออยู่ในอิริยาบถที่ไม่ถูกต้อง หรือจากความเสื่อมของกระดูกสันหลังตามวัย พบได้ในเด็ก วัยรุ่น และในผู้สูงอายุ

หลังค่อมจะมีอาการที่สังเกตได้ชัดคือ ลักษณะของหลังที่โค้งนูนมากกว่าปกติหรือมีลักษณะที่แปลกไป โดยปกติกระดูกสันหลังตอนบนจะมีลักษณะโค้งตามธรรมชาติอยู่ที่ประมาณ 20-45 องศา แต่ในผู้ที่มีอาการหลังค่อมจะมีความโค้งตั้งแต่ 50 องศาขึ้นไป อาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย ขึ้นอยู่กับสาเหตุและองศาความโค้งนูนของหลังในผู้ป่วยแต่ละราย ในผู้ที่มีอาการรุนแรงอาจยากลำบากเวลารับประทานอาหารหรือหายใจ หลังค่อมเกิดขึ้นได้ทุกวัย โดยเฉพาะในเด็กหรือวัยรุ่นในช่วงที่มีการพัฒนาของกระดูกอย่างรวดเร็ว หากพบว่าบุตรหลานมีกระดูกสันหลังตอนบนที่โค้งนูนของผิดปกติควรพาไปพบแพทย์

สาเหตุของหลังค่อม

หลังค่อมเป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นบริเวณกระดูกสันหลังส่วนอกที่โค้งนูนมากผิดปกติ อาจเป็นผลมาจากหลายสาเหตุ หลังค่อมที่พบทั่วไปแบ่งได้ 3 ประเภทดังต่อไปนี้

  • Postural Kyphosis

อาการหลังค่อมประเภทนี้มักพบได้ในเด็กผู้หญิงมากกว่าเด็กผู้ชาย เป็นผลมาจากการทำท่าทางที่ไม่ถูกต้องเป็นเวลานานและส่งผลต่อสุขภาพของกระดูกสันหลัง เช่น การงอหลัง การนั่งพิงพนัก การนั่งเอนหลัง หรือการสะพายกระเป่าที่มีน้ำหนักมาก เป็นต้น ทำให้เส้นเอ็นและกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ประคองกระดูกสันหลังยืดหรือถ่างออก และดึงให้กระดูกสันหลังผิดรูป แก้ไขได้ด้วยการทำท่าทางที่ถูกต้อง เช่น การยืนตัวตรง การยืดหลัง เป็นต้น และไม่ทำร้ายสุขภาพของกระดูกสันหลัง อาการหลังค่อมประเภทนี้ไม่ทำให้รู้สึกเจ็บ และมักไม่พบอาการหลังค่อมมากขึ้นเมื่อเป็นผู้ใหญ่

  • Scheuermann’s Kyphosis

อาการหลังค่อมประเภทนี้มักพบอาการที่สังเกตเห็นได้ชัดเจนคือ หลังจะงอหรือค่อมเป็นมุมที่ชัดเจน ไม่สามารถแก้ไขได้แม้จะทำท่าทางที่ถูกต้อง เช่น การยืนตัวตรง การยืดหลัง เป็นต้น เหมือนเช่นในผู้ป่วยที่มีอาการหลังค่อมแบบ Postural Kyphosis อาการนี้พบได้ในเด็กวัยรุ่นชายมากกว่าในเด็กวัยรุ่นหญิง โดยเฉพาะในผู้ที่มีลักษณะผอม ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณเลือดไปเลี้ยงกระดูกสันหลังไม่เพียงพอ ทำให้กระดูกสันหลังเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่และเส้นเอ็นรอบบริเวณกระดูกสันหลังมีความหนากว่าปกติ ซึ่งอาจเป็นลักษณะหนึ่งทางพันธุกรรมที่ถ่ายทอดกันภายในครอบครัว พบความผิดปกติที่เกิดขึ้นบริเวณกระดูกสันหลังตอนบน หรือตอนล่าง ในผู้ป่วยบางรายาอาจรู้สึกเจ็บที่บริเวณส่วนที่โค้งนูนของกระดูกสันหลัง รวมถึงบริเวณเอว อาการเจ็บจะรุนแรงขึ้นโดยเฉพาะในเวลาทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การนั่งหรือการยืนเป็นเวลานาน

  • Congenital Kyphosis

อาการหลังค่อมประเภทนี้เกิดจากภาวะกระดูกสันหลังพัฒนาผิดปกติตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์มารดา ส่วนมากจะพบว่ามีการเชื่อมรวมกันของกระดูกสันหลังตั้งแต่ 2 ชิ้นขึ้นไป อาจพบอาการที่รุนแรงได้และจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดตั้งแต่ในวัยเด็ก เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของกระดูกสันหลังที่อาจโค้งนูนไปมากกว่าปกติ ซึ่งอาจเป็นลักษณะหนึ่งทางพันธุกรรมที่ถ่ายทอดกันภายในครอบครัว หรืออาจพบว่าผู้ป่วยมีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจหรือไตร่วมด้วย

นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงปัจจัยอื่นๆ ที่อาจเป็นสาเหตุของอาการหลังค่อม ได้แก่

  • โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) ทำให้กระดูกไม่แข็งแรงและแตกหักได้ง่าย
  • โรคกระดูกเสื่อม (Spondylosis) รวมถึงหมอนรองกระดูกและเส้นเอ็นของกระดูกสันหลังที่เสื่อมไปตามวัย
  • อาการสไปนา ไบฟิดา (Spina Bifida) เป็นอาการที่กระดูกสันหลังพัฒนาได้ไม่ถูกต้อง
  • โรคพาเจท (Paget’s Disease) เป็นอาการที่เกิดจากปัญหาของการฟื้นฟูกระดูก ส่งผลให้กระดูกไม่แข็งแรงหรืออาจทำให้ผิดรูปได้
  • โรคนิวโรไฟโบรมาโตซิส (Neurofibromatosis) เป็นโรคทางพันธุกรรมชนิดหนึ่งที่มีผลต่อระบบประสาท
  • โรคกล้ามเนื้อเสื่อม (Muscular Dystrophy) เป็นภาวะทางพันธุกรรมที่ทำให้กล้ามเนื้อเสื่อมสภาพ และอาจมีโอกาสพิการได้
  • วัณโรค เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่มักเกิดขึ้นบริเวณปอดและที่กระดูกสันหลัง
  • โรคมะเร็ง ที่เกิดขึ้นบริเวณกระดูกสันหลังหรือลุกลามมาจากเชื้อมะเร็งในอวัยวะอื่นๆ
  • การบาดเจ็บที่เกิดขึ้นกับกระดูกสันหลัง
  • อายุ เมื่ออายุมากขึ้น กระดูกสันหลังจะโค้งมากขึ้น

การวินิจฉัยหลังค่อม

อาการหลังค่อมวินิจฉัยได้โดยแพทย์จะตรวจประวัติผู้ป่วยเบื้องต้น สอบถามเกี่ยวกับอาการ จากนั้นจะตรวจร่างกาย ในผู้ป่วยบางรายอาจมีความโค้งนูนที่สังเกตเห็นได้ชัดถึงความผิดปกติของกระดูกสันหลัง แพทย์อาจกดที่กระดูกสันหลังเพื่อดูว่ามีอาการเจ็บบริเวณไหน หรือวินิจฉัยโดยให้ผู้ป่วยยืนเท้าชิดกัน เข่าตรง ก้มตัวไปด้านหน้า และยืดแขนทั้ง 2 ข้างไปแตะที่พื้น วิธีการนี้มีชื่อว่า Adam’s Forward Bend Test เพื่อตรวจหาความโค้งนูนที่ผิดปกติของกระดูกสันหลัง รวมถึงอาจวินิจฉัยอาการหลังค่อมเพิ่มเติมด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

  • การเอกซเรย์ (X-Rays) เพื่อตรวจหาองศาความโค้งที่ผิดปกติของกระดูกสันหลัง และเพื่อช่วยระบุชนิดของหลังค่อม รวมถึงการสแกนความหนาแน่นของกระดูก
  • การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) เพื่อวินิจฉัยข้อมูลเพิ่มเติมหลังการเอ็กซเรย์
  • การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หากแพทย์สงสัยว่าอาจพบเนื้องอกหรือการติดเชื้อ
  • การตรวจระบบประสาท (Neurological Tests) ในผู้ที่มีอาการชา รู้สึกเจ็บเหมือนมีเข็มแทง หรือมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงในช่วงล่างของร่างกาย อาจต้องตรวจระบบประสาทเพื่อทดสอบการตอบสนอง การเคลื่อนตัวของกระแสประสาท
  • การทดสอบสมรรถภาพของปอด (Pulmonary Function Tests) เพื่อวินิจฉัยและทดสอบการหายใจ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการหลังค่อมมาก
  • การตรวจเลือด เพื่อตรวจหาการติดเชื้อต่างๆ เช่น วัณโรค

การรักษาหลังค่อม

การรักษาอาการหลังค่อมทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น อายุและสุขภาพของผู้ป่วย ประเภทและอาการของหลังค่อม หรือองศาความโค้งนูนของกระดูกสันหลังในผู้ป่วยแต่ละราย โดยแนวทางในการรักษาแบ่งได้ 2 ประเภท คือ การรักษาที่ไม่ต้องรผ่าตัด และการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. การรักษาที่ไม่ต้องผ่าตัด เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหลังค่อมที่มีผลมาจากการทำท่าทางที่ไม่ถูกต้องเป็นเวลานาน (Postural Kyphosis) หรือผู้ป่วยที่มีอาการหลังค่อมแบบ Scheuermann’s Kyphosis แต่มีความโค้งของกระดูกสันหลังไม่เกิน 75 องศา โดยแพทย์จะมีแนวทางการรักษาดังต่อไปนี้

  • การติดตามอาการ โดยแพทย์จะเอกซเรย์ (X-Rays) เก็บข้อมูลความโค้งของกระดูกสันหลังของผู้ป่วยเป็นระยะจนกว่าจะเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่
  • การทำกายภาพบำบัด เพื่อบรรเทาอาการปวด และเพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อบริเวณหลังและท้อง ยืดเอ็นร้อยหวาย รวมถึงเสริมสร้างความแข็งแรงให้ร่างกายโดยเฉพาะในส่วนที่ได้รับผลกระทบจากแนวโค้งของกระดูกสันหลัง
  • การรับประทานยาในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เพื่อบรรเทาอาการปวด เช่น ยาไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) หรือยานาโปรเซน (Naproxen)
  • การใช้อุปกรณ์ค้ำกระดูก (Bracing) แพทย์อาจแนะนำให้ใช้อุปกรณ์ค้ำกระดูกในผู้ป่วยเด็กที่มีอาการหลังค่อมแบบ Scheuermann’s Kyphosis จนกว่าจะเจริญเติบโตเต็มที่ โดยประเภทของอุปกรณ์และระยะเวลาการใช้ในแต่ละวันขึ้นอยู่กับองศาความโค้งของกระดูกสันหลัง

2. การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหลังค่อมแบบ Congenital Kyphosis รวมถึงผู้ป่วยที่มีอาการหลังค่อมแบบ Scheuermann’s Kyphosis แต่มีความโค้งของกระดูกสันหลังเกินกว่า 75 องศา และผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังอย่างรุนแรงและอาการไม่บรรเทาลงจากการรักษาที่ไม่ต้องผ่าตัด แพทย์จะผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลัง (Spinal Fusion) เพื่อลดองศาความโค้งของกระดูกสันหลัง อาจทำให้อาการปวดหลังดีขึ้น รวมถึงป้องกันอาการอื่นๆ ที่อาจตามมา แต่การผ่าตัดอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น การติดเชื้อหลังการผ่าตัด เลือดออกมากที่แผลผ่าตัด รวมถึงเส้นประสาทอาจได้รับความเสียหาย ซึ่งทำให้เป็นอัมพาตและสร้างปัญหาเกี่ยวกับการทำงานของกระเพาะปัสสาวะและลำไส้ได้

หลังค่อม

ภาวะแทรกซ้อนของหลังค่อม

หลังค่อมอาจมีภาวะแทรกซ้อนได้ หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง เช่น

  • อาการปวดหลังที่เกิดขึ้นเป็นประจำ และอาการไม่บรรเทาลงหลังรับประทานยาแก้ปวด
  • ปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ในผู้ป่วยที่มีองศาของกระดูกสันหลังหรือมีความโค้งมาก อาจส่งผลให้กระดูกไปกดทับปอดหรือทางเดินหายใจ
  • ปัญหาทางอารมณ์และจิตใจ เด็กที่มีอาการหลังค่อมอาจรู้สึกอาย ไม่อยากเข้าสังคม รวมถึงไม่อยากทำกิจกรรมต่างๆ ที่อาจเป็นการเปิดเผยอาการหลังค่อมให้ผู้อื่นรู้

ควรรีบไปพบแพทย์หากพบภาวะแทรกซ้อนที่มีอาการรุนแรง เช่น เส้นประสาทถูกกระดูกสันหลังกดทับ ส่งผลต่อการทำงานของสัญญาณประสาท ทำให้บริเวณแขนและขาเกิดอาการชาหรืออ่อนแรง ปัญหาเกี่ยวกับประสาทสัมผัส กระเพาะปัสสาวะหรือลำไส้สูญเสียการควบคุม เป็นต้น

การป้องกันหลังค่อม

หลังค่อมที่เกิดจากท่าทางป้องกันได้โดยการอยู่ในอิริยาบถที่ถูกต้อง ไม่ทำลายสุขภาพของกระดูกสันหลัง โดยปฏิบัติตามแนวทางดังต่อไปนี้

  • นั่งหรือยืนในท่าทางที่ถูกต้อง เช่น หลังตรง ไม่ห่อตัว อกผาย ไหล่ผึ่ง
  • หลีกเลี่ยงการสะพายกระเป๋าที่มีน้ำหนักมาก
  • เพิ่มความแข็งแรงและความยืดหยุ่นให้กับกล้ามเนื้อหลัง ท้อง และหน้าอก เพื่อให้กล้ามเนื้อเหล่านี้ช่วยพยุงกระดูกสันหลัง ด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น การว่ายน้ำ การวิ่ง การเดิน การเล่นโยคะ การเล่นพิลาทิส เป็นต้น

 

เรื่องเกี่ยวกับสุขภาพอื่นๆ ที่น่าสนใจ

 

ที่มาของบทความ

 

ติดตามเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพได้ที่  kazama-dc.com

สนับสนุนโดย  ufabet369