ธปท.จ่อออก 3 กฎเบรกก่อหนี้ พบคนไทยถูกชักจูงกู้เงินด้วยคำพูด “ของมันต้องมี”

ธปท.กังวลหนี้ครัวเรือนสูงลิ่ว คนไทยเข้าสู่วงจรหนี้เร็ว เตรียมออก 3 กฎปล่อยสินเชื่อใหม่ที่มีคุณภาพ หยุดแบงก์กระตุ้นคนก่อหนี้ ให้สินเชื่อตามความเสี่ยง กำหนดอัตราส่วนหนี้ต่อรายได้ เผยตอนนี้คนไทยมีหนี้รวมเฉลี่ยมากกว่า 4 บัญชีต่อคน บางรายสูงกว่ารายได้ถึง 25 เท่า หรือเกษียณแล้วยังต้องผ่อนหนี้กว่า 400,000 บาท

นายจิตเกษม พรประพันธ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายคุ้มครองและส่งเสริมความรู้ผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในช่วงการเสวนา “หนี้ครัวเรือนไทย แก้อย่างไรให้ยั่งยืน” จัดขึ้นภายในงานมหกรรมการเงิน ครั้งที่ 23 (Money Expo 2023) ว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ล่าสุดไตรมาสที่ 4 ของปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ระดับ 86.9% ของจีดีพี ถือว่าอยู่ในระดับที่ต้องเฝ้าระวังเนื่องจากเกินกว่ามาตรฐานสากลที่ยอมรับได้ที่สัดส่วน 80% ต่อจีดีพี หากคิดเป็นมูลค่าหนี้อยู่ที่สูงถึงกว่า 15 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค หนี้บัตรเครดิตถึง 60% และเป็นหนี้ที่ดีหรือหนี้เพื่อใช้ในการประกอบอาชีพ หรือหนี้บ้านที่เป็นสินทรัพย์จำเป็น 40%

“ความกังวลของ ธปท.คือ จากการสำรวจข้อมูลจากเครดิตบูโร พบว่า คนไทยเริ่มเข้าวงจรการเป็นหนี้เร็ว โดยพบว่า จากคนไทยอายุ 25 ปี ทั้งหมด 4.8 ล้านคน 58% เริ่มเป็นหนี้แล้ว และหนี้ส่วนหนึ่งกว่า 25% ของจำนวนหนี้กลายเป็นหนี้เสีย และพบว่า คนไทยมีหนี้รวมกันเฉลี่ยแล้ว คนละ 4 บัญชี และพบคนที่มีหนี้สูงสุด ถึง 25 เท่าของเงินเดือน ถือว่าสูงมาก”

นอกจากนั้น หากพิจารณาความเป็นหนี้นาน พบว่าคนไทยเป็นหนี้เกือบตลอดทั้งชีวิต โดยพบว่า คนไทยที่เกษียณจากงาน หรืออายุมากกว่า 60 ปียังมีหนี้ค้างที่ต้องจ่ายต่อไป ประมาณ 400,000 บาทต่อคน ส่วนหนี้นอกระบบ จากการทำวิจัยของสถาบันป๋วยฯ สำรวจคนไทย 4,600 ครัวเรือน พบ 42% มีหนี้นอกระบบโดยเฉลี่ยคนละ 54,000 บาท อีกทั้งหลังช่วงโควิดพบว่า จำนวนบัญชีที่เป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้น โดยจากหนี้เสีย 10 ล้านบัญชี มีหนี้เสียที่เกิดขึ้นในช่วงโควิดถึง 4.5 ล้านบัญชี โดยอยู่กับธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ 70% และบริษัทให้สินเชื่อที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) อีก 20% ซึ่งต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้มาแก้หนี้โดยเร็ว

“สาเหตุการเป็นหนี้ที่น่าสนใจ นอกเหนือจากการสร้างหนี้เพื่อใช้จ่าย และการสร้างหนี้จากกรณีจำเป็นฉุกเฉินต่างๆแล้ว พบว่าคนไทยบางส่วนเป็นหนี้โดยไม่มีความรู้ความเข้าใจหนี้ที่ดีพอ และเป็นหนี้จากการถูกกระตุ้นและชักจูงใจ เช่น ใครๆ ก็มี หรือของมันต้องมี เป็นต้น”

ดังนั้น การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน แบ่งเป็นแนวทางการแก้หนี้เดิมคือ การเร่งรัดการปรับโครงสร้างหนี้ อีกส่วนที่ต้องทำคือ การสร้างหนี้ใหม่ที่มีคุณภาพและเหมาะสม ซึ่ง ธปท.อยู่ระหว่างการดูจังหวะเวลาที่เหมาะสมในการออกกฎเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อที่มีคุณภาพ

ธปท.จ่อออก 3 กฎเบรกก่อหนี้ พบคนไทยถูกชักจูงกู้เงินด้วยคำพูด "ของมันต้องมี"เพื่อไม่ให้กระทบทั้งลูกหนี้ที่ต้องการเงินเพิ่มและตัวเจ้าหนี้ โดยจะทำให้ 3 เรื่องคือ

1.การสร้างลูกหนี้และเจ้าหนี้ที่มีคุณภาพ โดยในส่วนของเจ้าหนี้ในการออกโฆษณา หรือประชาสัมพันธ์สินเชื่อ ต้องไม่เป็นไปในทางกระตุ้นให้ก่อหนี้เพิ่มในลักษณะไม่จำเป็น เช่น ของมันต้องมี หรืออื่นๆ และต้องให้ข้อมูลให้ครบถ้วน เช่น ในป้ายบอกดอกเบี้ย 0% ลูกหนี้ดีใจกู้เลย ทั้งที่จริงๆ 0% แค่ 3 เดือน หรือแค่ปีแรกเท่านั้น หรือแนะนำให้ผ่อนบัตรเครดิตขั้นต่ำ ซึ่งกินแต่ดอกเบี้ยไม่ตัดต้นทำให้หนี้ไม่หมดเสียที ควรแนะนำให้ผ่อนมากกว่าขั้นต่ำหรือเต็มจำนวน รวมทั้งต้องแนะนำให้ปรับโครงสร้างหนี้หากเห็นว่าลูกหนี้เริ่มส่งไม่ได้

2.การปล่อยสินเชื่อจะต้องใช้ความเสี่ยงของลูกหนี้เป็นฐาน เช่น คนที่มีความเสี่ยงน้อยผ่อนชำระดี ได้ดอกเบี้ยต่ำ ขณะที่คนที่เสี่ยงกว่า ไม่ได้แปลว่าจะต้องตัดไม่ให้เขาเข้าถึงแหล่งเงิน แต่อาจจะให้ภายใต้ดอกเบี้ยที่เหมาะสม

3.ธปท.จะนำมาตรการดูแลความเสี่ยงโดยรวมของระบบเพิ่มเติม เช่น การกำหนดอัตราส่วนหนี้ต่อรายได้ หรือวงเงินรวมสูงสุดที่ผ่อนส่งได้ต่อเดือน เช่น ต้องผ่อนหนี้ไม่เกินกี่เปอร์เซ็นต์ของรายได้แต่ละเดือน เพื่อให้ยังมีเงินพอใช้จ่ายตามสมควรนอกจากนั้น ธปท.จะไปดูแลในเรื่องกฎหมายฟื้นฟู และล้มละลายให้ผู้ล้มละลายกลับมาได้เร็วขึ้น รวมทั้งการเพิ่มช่องทางและรายได้อื่น เช่น ทางออนไลน์ เพื่อให้คนที่ไม่มีเงินเดือนประจำเข้าถึงสินเชื่อได้เพิ่มขึ้นด้วย.

ขอบคุณรูปภาพจาก : thairath.co.th

ขอบคุณแหล่งที่มา : thairath.co.th

สามารถอัพเดตข่าวสารเรื่องราวต่างๆได้ที่ : kazama-dc.com