ต้องร่วมยุ! บิ๊กอียูเห็นต่างมาครง แนะชาติสมาชิกส่งเรือรบเข้าช่องแคบไต้หวันเพื่อป้องปรามจีน

บรรดาชาติสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ควรประจำการเรือรบเข้าลาดตระเวนช่องแคบไต้หวัน เพื่อป้องปรามการรุกรานทางทหารของปักกิ่ง จากความเห็นของโจเซฟ บอร์เรล หัวหน้าด้านนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป
ในการให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ Le Journal du Dimanche ในวันเสาร์ (22 เม.ย.) บอร์เรล ยังได้กล่าวตำหนิประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส ที่แสดงความคิดเห็นวางเฉยในประเด็นไต้หวัน ระหว่างให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ข่าวการเมือง “พิโลติโก” ของสหรัฐฯ เมื่อช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา พร้อมระบุ “ในข้อเท็จจริงแล้วยุโรปต้องมีส่วนร่วมอย่างมากในประเด็นนี้ (ไต้หวัน) ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับเรา ทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้าและเทคโนโลยี”
บอร์เรล กล่าวต่อว่า “นี่คือเหตุผลว่าทำไม ผมถึงเรียกร้องให้กองทัพเรือยุโรปเข้าลาดตระเวนช่องแคบไต้หวัน เพื่อแสดงออกถึงพันธสัญญาของยุโรปที่มีต่อเสรีภาพแห่งการล่องเรือในพื้นที่อันสำคัญยิ่งนี้ ในขณะเดียวกัน เราต้องระมัดระวังต่อการยั่วยุและการประชันใดๆ ประชาชนชาวไต้หวันส่วนใหญ่เชื่อว่าสภาพแห่งสันติในปัจจุบันเป็นทางออกที่เหมาะสมที่สุด เพราะฉะนั้นเราจงหนักแน่นเพื่อรับประกันว่าหลักการนี้จะได้รับความเคารพ”

ทั้งนี้ บอร์เรล มีกำหนดเป็นประธานการประชุมของรัฐมนตรีต่างประเทศของ 27 ชาติอียูในวันจันทร์ (22 เม.ย.) ซึ่งคาดหมายว่าประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างอียูกับจีนจะเป็นหัวข้อหนึ่งของการประชุม
ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนีถูกมองอย่างกว้างขวางว่าเป็นเพียงรัฐสมาชิกอียูเพียงไม่กี่ชาติที่มีศักยภาพด้านการลาดตระเวนห่างจากมาตุภูมิ ไกลจนถึงทางตะวันตกของแปซิฟิก ขณะที่สหราชอาณาจักรเป็นประเทศยุโรปอีกชาติที่มีศักยภาพดังกล่าว และพวกเขาเคยประจำการเรือบรรทุกเครื่องบินเอชเอ็มเอช ควีน เอลิซาเบธ ซึ่งเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินใหม่ล่าสุด ณ ขณะนั้นเข้าประจำการในทะเลจีนใต้ในปี 2021
เป็นเรื่องที่พบเห็นน้อยครั้งมากที่เรือรบของยุโรปจะล่องผ่านช่องแคบไต้หวัน ซึ่งสวนทางกับเรือของกองทัพเรือสหรัฐฯ ที่แล่นผ่านช่องแคบแห่งนี้เป็นประจำ อ้างว่าเพื่อสำแดงสิทธิเสรีภาพในการเดินเรือ
ก่อนหน้านี้ในช่วงต้นเดือน เรือฟริเกตลาดตระเวน Prairial ล่องผ่านช่องแคบแห่งนี้ อ้างอิงจากคำกล่าวของรัฐบาลไต้หวัน อย่างไรก็ตาม ครั้งที่เรือฟริเกต “บาเยิร์น” ของเยอรมนีล่องผ่านอินโด-แปซิฟิกในปี 2021 เป็นครั้งแรกในรอบ 2 ทศวรรษ เรือลำดังกล่าวตัดสินใจไม่แล่นเข้าช่องแคบไต้หวัน
(ที่มา : พิโลติโก)

อ่านข่าวรอบโลกได้ที่ kazama-dc.com